วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กฎหมาย

กฎหมาย


กฎหมาย คือ กฎเกณฑ์ คำสั่ง หรือข้อบังคับที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอย่างหนึ่งอย่างใดของสังคม

มนุษย์ถือได้ว่าเป็นสัตว์สังคมจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แต่เนื่องจากความคิด อุปนิสัย สภาพแวดล้อม เพศ ฯลฯ ที่แตกต่างกันไป จึงจำเป็นจะต้องมีกฎหมายเพื่อควบคุมให้สังคมมีความสงบเรียบร้อย กฎหมายบางอย่างก็กำหนดขึ้นเป็นขั้นตอนหรือวิธีปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งความสงบเรียบร้อย หรือเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ นอกจากนี้การบัญญัติกฎหมายเพื่อเป็นบรรทัดฐานให้คนในสังคมปฏิบัติตามในแนวทางเดียวกัน ก็จะสร้างความเป็นระเบียบให้เกิดขึ้นอีกด้วย เหล่านี้ถือเป็นเป้าหมายอันสำคัญของสังคม ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวนี้เมื่อคิดย้อนกลับไปแล้ว ก็จะมาจากคนในสังคมนั่นเอง

ลักษณะของกฎหมาย

เราสามารถแยกลักษณะของกฎหมายออกได้เป็น 5 ประการ คือ

1.กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับ ซึ่งจะแตกต่างกับการเชื้อเชิญหรือขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตาม คำสั่งหรือข้อบังคับนั้นมีลักษณะให้เราต้องปฏิบัติตาม แต่ถ้าเป็นการเชื้อเชิญหรือขอความร่วมมือ เราจะปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้ เช่นนี้เราก็จะไม่ถือเป็นกฎหมาย เช่น การรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ หรือช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ

2.กฎหมายต้องมาจากรัฐาธิปัตย์หรือผู้ที่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ รัฐาธิปัตย์คือผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศ ในระบอบเผด็จการหรือระบอบการปกครองที่อำนาจการปกครองประเทศอยู่ในมือของบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด มีอำนาจออกกฎหมายได้ เช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด พระบรมราชโองการหรือคำสั่งของพระมหากษัตริย์ก็ถือเป็นกฎหมาย ส่วนในระบอบประชาธิปไตยของเรา ถือว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน กฎหมายจึงต้องออกโดยประชาชน คำถามมีอยู่ว่าประชาชนออกกฎหมายได้อย่างไร ก็ออกโดยที่ประชาชนเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในการออกกฎหมาย ซึ่งก็คือสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)นั่นเอง ดังนั้นการเลือก ส.ส. ในการเลือกทั่วไปนั้นนอกจากจะเป็นการเลือกคนเข้ามาบริหารประเทศแล้ว ยังเป็นการเลือกตัวแทนของประชาชนเพื่อทำการออกกฎหมายด้วย

นอกจากดังกล่าวมาข้างต้น อาจมีบางกรณีที่กฎหมายให้อำนาจเฉพาะแก่บุคคลในการออกกฎหมายไว้ เช่น พระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงที่ออกโดยฝ่ายบริหาร(คณะรัฐมนตรี) ฯลฯ

3.กฎหมายต้องใช้บังคับได้โดยทั่วไป คือเมื่อมีการประกาศใช้แล้ว บุคคลทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายโดยเสมอภาค จะมีใครอยู่เหนือกฎหมายไม่ได้ หรือทำให้เสียประโยชน์หรือเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจงไม่ได้ แต่อาจมีข้อยกเว้นในบางกรณี เช่น กรณีของฑูตต่างประเทศซึ่งเข้ามาประจำในประเทศไทยอาจได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายภาษีอากร หรือหากได้กระทำความผิดอาญา ก็อาจได้รับเอกสิทธิ์ตามกฎหมายระหว่างประเทศไม่ต้องถูกดำเนินคดีในประเทศไทย โดยต้องให้ประเทศซึ่งส่งฑูตนั้นมาประจำการดำเนินคดีแทน ฯลฯ

4.กฎหมายต้องใช้บังคับได้จนกว่าจะมีการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลง เมื่อมีการประกาศใช้แล้วแม้กฎหมายนั้นจะไม่ได้ใช้มานาน ก็ถือว่ากฎหมายนั้นยังมีผลใช้บังคับได้อยู่ตลอด กฎหมายจะสิ้นผลก็ต่อเมื่อมีการยกเลิกกฎหมายนั้นหรือมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นเท่านั้น

5.กฎหมายจะต้องมีสภาพบังคับ ถามว่าอะไรคือสภาพบังคับ นั่นก็คือการดำเนินการลงโทษหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายเพื่อให้เกิดความเข็ดหลาบหรือหลาบจำ ไม่กล้ากระทำการฝ่าฝืนกฎหมายอีก และรวมไปถึงการเยียวยาต่อความเสียหายที่เกิดจากการฝ่าฝืนกฎหมายนั้นด้วย

ตามกฎหมายอาญา สภาพบังคับก็คือการลงโทษตามกฎหมาย เช่น การจำคุกหรือการประหารชีวิต ซึ่งมุ่งหมายเพื่อจะลงโทษผู้กระทำความผิดให้เข็ดหลาบ แต่ตามกฎหมายแพ่งฯนั้น สภาพบังคับจะมุ่งหมายไปที่การเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เช่น การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือการบังคับให้กระทำการตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ ฯลฯ ซึ่งบางกรณีผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายก็อาจต้องต้องถูกบังคับทั้งทางอาญาและทางแพ่งฯในคราวเดียวกันก็ได้

แต่กฎหมายบางอย่างก็อาจไม่มีสภาพบังคับก็ได้ เนื่องจากไม่ได้มุ่งหมายให้ผู้คนต้องปฏิบัติตาม แต่อาจบัญญัติขึ้นเพื่อรับรองสิทธิให้แก่บุคคล หรือทำให้เสียสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้วสามารถทำนิติกรรมได้เองโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม หรือบุคคลที่มีอายุ 15 ปีแล้วสามารถทำพินัยกรรมได้ ฯลฯ หรือออกมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศ ซึ่งกฎหมายประเภทนี้จะไม่มีโทษทางอาญาหรือทางแพ่งแต่อย่างใด

ที่มาของกฎหมาย

1.ศีลธรรม คือกฎเกณฑ์ของความประพฤติ คำๆนี้ฟังเข้าใจง่ายแต่อธิบายออกมาได้ยากมาก เพราะเป็นสิ่งที่แต่ละคนเข้าใจได้ในตัวเองและมีความหมายที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สภาพแวดล้อม ฯลฯ แต่อย่างไรก็ความหมายของศีลธรรมของแต่ละคนก็จะมีมาตรฐานใกล้เคียงกัน แม้อาจจะแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่โดยหลักแล้วก็จะหมายถึง ความรู้สึกผิดชอบหรือความดีงามต่างๆที่ทำให้คนเราสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้โดยสงบสุข ดังนั้นการบัญญัติกฎหมายจึงต้องใช้ศีลธรรมเป็นรากฐาน เพื่อให้เกิดความสงบสุขแก่สังคมให้มากที่สุดนั่นเอง

2.จารีตประเพณี คือแบบแผนที่คนในสังคมยอมรับและถือปฏิบัติมาเป็นเวลาช้านาน แต่ละสังคมก็มีจารีตประเพณีที่แตกต่างกันออกไป ตามแต่สภาพแวดล้อม ศาสนา เชื้อชาติ ฯลฯ เช่นเดียวกับศีลธรรม การกระทำที่ฝ่าฝืนต่อจารีตประเพณี คนในสังคมนั้นๆก็จะมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่สมควรกระทำ จึงนำมาใช้เป็นรากฐานในการบัญญัติกฎหมาย เนื่องจากเป็นสิ่งที่คนในสังคมนั้นๆยอมรับ ตัวอย่างที่สำคัญก็คือกฎหมายในประเทศอังกฤษนั้น ผู้พิพากษาจะใช้จารีตประเพณีมาพิจารณาพิพากษา ซึ่งคำพิพากษานั้นถือเป็นกฎหมาย ส่วนประเทศอื่นๆก็มีการนำจารีตประเพณีมาใช้เป็นรากฐานในการบัญญัติกฎหมายเช่นกัน เช่นกฎหมายของประเทศไทยในเรื่องของการหมั้น การแบ่งมรดก ฯลฯ

3.ศาสนา คือหลักการดำเนินชีวิตหรือข้อบังคับที่ศาสดาของแต่ละศาสนาบัญญัติขึ้นเพื่อสอนให้คนทุกคนเป็นคนดี เมื่อพูดถึงศาสนาเราก็อาจนึกไปถึงศีลธรรม เพราะสองคำนี้มักจะมาคู่กัน แต่คำว่าศีลธรรมจะมีความหมายกว้างกว่าคำว่าศาสนา เพราะศีลธรรมอาจหมายความรวมเอาหลักคำสอนของทุกศาสนามารวมไว้และความดีงามต่างๆไว้ในคำๆเดียวกัน เมื่อเรากล่าวถึงคำสอนของศาสนาอิสลาม นั่นหมายถึงศีลธรรม เมื่อเรากล่าวถึงคำสอนของศาสนาพุทธ นั่นหมายถึงเรากล่าวถึงศีลธรรมเช่นกัน กฎหมายของแต่ละประเทศก็จะบัญญัติขึ้นโดยอาศัยศาสนาเป็นรากฐานด้วย เช่นในประเทศไทยเราในทางอาญาก็จะนำศีล 5 มาใช้ในการบัญญัติกฎหมาย เช่นห้ามฆ่าผู้อื่น ห้ามลักทรัพย์ ห้ามประพฤติผิดในกาม ฯลฯ

4.คำพิพากษาของศาล มีเฉพาะบางประเทศเท่านั้นที่ถือเอาคำพิพากษาของศาลมาจัดทำเป็นกฎหมาย เช่น ประเทศอังกฤษ คือใช้จารีตประเพณีมาพิจารณาพิพากษาคดีและเพื่อไม่ให้มีกรณีเดียวกันนี้เกิดขึ้นซ้ำอีกก็จะนำคำพิพากษานั้นมาจัดทำเป็นกฎหมายเพื่อให้ทุกคนปฏิบัติตาม หากมีคดีที่มีข้อเท็จจริงเหมือนกันเกิดขึ้นอีก ศาลก็จะตัดสินเหมือนกับคดีก่อนๆ แต่ในหลายๆประเทศคำพิพากษาเป็นเพียงแนวทางในการพิจารณาพิพากษาของศาลเท่านั้น ศาลอาจใช้ดุลพินิจพิจารณาพิพากษาต่างจากคดีก่อนๆได้ จึงไม่ถือคำพิพากษาของศาลเป็นกฎหมาย เช่น ประเทศไทยเราเป็นต้น

5.หลักความยุติธรรม(Equity) หลักความยุติธรรมนี้จะต้องมาควบคู่กับกฎหมายเสมอ เพียงแต่ความยุติธรรมของแต่ละคนก็อาจไม่เท่ากัน แต่อย่างไรก็ดีผู้บัญญัติและผู้ใช้กฎหมายก็จะต้องคำนึงถึงหลักความยุติธรรมด้วยและความยุติธรรมนี้ควรจะอยู่ในระดับที่คนในสังคมส่วนใหญ่ยอมรับ เพราะถ้าเป็นความยุติธรรมโดยคำนึงถึงคนส่วนน้อยมากกว่า ก็จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้คนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น ทำให้ไม่เกิดความยุติธรรมแก่สังคมโดยแท้จริง ตัวอย่างที่สำคัญคือ ในอังกฤษนั้นแต่ก่อนการฟ้องเรียกค่าเสียหายนั้นจะฟ้องเรียกได้เฉพาะจำนวนเงินเท่านั้น จะฟ้องให้ปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงกันไม่ได้ จึงทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้เสียหาย เนื่องจากในบางรายผู้เสียไม่ได้ต้องการเงินค่าเสียหาย แต่ต้องการให้คู่สัญญาปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำต่อกัน ดังนั้นจึงได้มีการนำเอาหลักความยุติธรรมาใช้โดยอนุญาตให้มีการชำระหนี้โดยการปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ตามความมุ่งหมายของผู้ที่เสียหายได้ ทำให้เกิดความเป็นธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดียิ่งขึ้น

6.ความคิดเห็นของนักปราชญ์ ก็คือผู้ทรงความรู้ในทางกฎหมายนั่นเอง อาจจะเป็นนักวิชาการ หรืออาจารย์สอนกฎหมายก็ตาม เนื่องจากนักปราชญ์เหล่านี้จะเป็นผู้ค้นคว้าหลักการและทฤษฎีต่างๆเพื่อสนับสนุนหรือโต้แย้งกฎหมายหรือคำพิพากษาของศาลอยู่เสมอ ทำให้เกิดหลักการหรือทฤษฎีใหม่ๆที่เป็นแนวทางในการบัญญัติกฎหมายได้ เช่น แนวความคิดของ คาร์ล มาร์กซ์ ในประเทศรัสเซีย ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น